รัฐบาลอังกฤษมีแนวทางที่ชัดเจนในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ด้วยการใช้วัคซีนเป็นหลัก โดยแผนควบคุมการระบาดในฤดูหนาวช่วงหน้าหนาวที่เผยแพร่ออกมาในวันนี้ (15 ก.ย.) แบ่งเป็นสองแผน คือแผนเอ และแผนบี
แผนเอ คือการให้วัคซีนกระตุ้นแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว และเริ่มการให้วัคซีนแก่เด็ก ส่วนแผนบี คือการกำหนดให้ใช้ผ้าปิดปาก, หนังสือเดินทางโควิด และออกคำสั่งให้ทำงานจากบ้าน หรือที่เรียกว่า “ล็อกดาวน์ ไลต์”
แต่ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนที่จะไม่มีการล็อกดาวน์อีก
แรงกดดันต่อบริการสุขภาพแห่งชาติ
การจะขยับจากแผนเอ ไปใช้แผนบีนั้น รัฐบาลมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างหนึ่งคือแรงกดดันต่อสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service—NHS)
ปัจจุบันผู้ป่วยโรคโควิดมีอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ ราว 7% ฟังดูแล้วอาจจะไม่มาก แต่โรงพยาบาลต่าง ๆ กำลังเข้าใกล้ขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยแล้ว ดังนั้นถ้ามีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยกรณีอื่น ๆ

ณ ขณะนี้การรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่ฉุกเฉินลดลงจากช่วงเวลาปกติเกือบ 1 ใน 5 แล้ว แต่ถ้ามีผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เกิดขึ้นมาอีก ก็จะส่งผลให้ต้องแบ่งสรรปันส่วนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกและหัวเข่าที่ต้องเลื่อนออกไป ไปจนถึงการที่ผู้ป่วยต้องรอรถพยาบาลนานขึ้น
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวของทุกปี แต่ปีนี้อาจจะมีระดับที่แตกต่างจากเดิมมาก
แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลค่อนข้างคงที่ โดยในช่วง 6 สัปดาห์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 5
แต่ถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างแน่นอน และยากที่จะแย้งว่าแรงกดดันจากโควิดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโควิด
ยอดผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นได้อีก แม้ตัวเลขจะขึ้น ๆ ลง ๆ นับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ยุติลง
การที่อัตราการแพร่ระบาดที่เริ่มคงที่ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงการแพร่เชื้อได้ง่ายของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา และการคลายกฎเกณฑ์ควบคุมต่าง ๆ ทางสังคมอย่างเต็มที่แล้ว
นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการระบาดใหญ่กำลังจะสิ้นสุดลง แต่อย่างที่นายกรัฐมนตรีและนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิได้ออกมาเน้นย้ำในสัปดาห์นี้ว่ามันยังไม่จบสิ้นลงอย่างสมบูรณ์
แบบจำลองชี้ให้เห็นว่า อัตราการติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นมากจนทำให้มีผู้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษเพิ่มเป็น 7,000 ต่อวัน ในช่วงกลางเดือน ต.ค. นี้ หรือเกือบ 10 เท่าของจำนวนปัจจุบัน
สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญคือระดับภูมิคุ้มกันและการติดต่อพบปะกันของผู้คน
ฤดูร้อนที่เพิ่งสิ้นสุดลง ผู้คนเริ่มกลับไปทำงานและเรียนหนังสือ ทำให้การติดต่อพบปะกันเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการพบปะในบ้านเรือนหรืออาคาร ซึ่งทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายกว่า การจะควบคุมสิ่งนี้ได้จำเป็นต้องเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน
แต่แม้วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ติดเชื้อป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิผลของวัคซีนก็อาจลดลง และนี่คือเหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในหมู่คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า แต่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
และนี่อาจจะสร้างความแตกต่างได้
กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจะเสนอให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ :
- คนที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า
- ผู้ที่อายุ 16-49 ปี ที่มีปัญหาสุขภาพ และทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19
- ผู้ใหญ่ที่ต้องติดต่อกับคนที่รับยากดภูมิคุ้มกันภายในบ้าน
…………………..
ในสัปดาห์นี้มีการประกาศว่าจะให้วัคซีนแก่เด็กอายุ 12-15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะป่วยรุนแรงจากโรคโควิด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญเช่นกันคือการทำให้ผู้ใหญ่กว่า 5 ล้านคน ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนเลยแม้แต่โดสเดียว เข้ารับวัคซีน
แต่หากการให้ภูมิคุ้มกันด้วยวิธีนี้ไม่อาจช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ทางการก็จะต้องนำแผนบีออกมาใช้ โดยมาตรการตามแผนบีฟังดูอาจจะไม่เข้มมากนักเมื่อเทียบกับการล็อกดาวน์ที่เคยทำมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่มาตรการที่ออกมานี้ก็กำหนดอยู่บนสมมติฐานที่ว่าหากอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะยังไม่เร็วเท่ากับที่เกิดในช่วงฤดูหนาวเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น กำหนดให้คนทำงานจากบ้านก็จะช่วยได้มาก
แต่การที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง การจะคาดการณ์ไปข้างหน้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“มีความไม่แน่นอนอย่างมาก” ศ.เกรแฮม เม็ดลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแบบจำลองของรัฐบาล กล่าว
เขาไม่คิดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากอย่างที่เคยเกิดในช่วงการระบาดระลอกแรกจนทำให้คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แต่เขาก็ไม่คิดว่าอัตราการติดเชื้อจะลดต่ำลงอย่างมาก “ผมไม่คิดว่าทุกคนคาดการณ์เช่นนั้น” เขากล่าวเพิ่มเติม
การกลับมาอีกครั้งของไวรัสตัวอื่น ๆ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของโควิด และผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนก่อนหน้านี้แล้วว่าไวรัสประจำฤดูกาลที่ระบาดในช่วงหน้าหนาวจะยังคงกลับมา
แต่การที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ไม่มากนักเมื่อปีที่แล้วก็เพราะมีการล็อกดาวน์และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่มาตรการนี้ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเหล่านี้ลดลง และทำให้เด็กเล็กบางส่วนไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเลย
ตอนนี้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ กำลังแพร่กระจายในระดับสูงแล้ว

หากไข้หวัดใหญ่กลับมาแพร่กระจายตามไปด้วยก็จะทำให้จำนวนคนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากไวรัสเกี่ยวกับระบบทางเดินทางใจอื่น ๆ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก จากที่มีผู้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคโควิดที่ 750 คนต่อวัน
ศ.เดม แอนน์ จอห์นสัน ประธานวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สภาพแวดล้อมกำลัง “สุกงอม” พอที่จะนำไปสู่จุดนี้
แต่เธอเชื่อว่ารัฐบาลทำถูกต้องที่พยายามหาจุดสมดุลเพื่อ “ทำให้ลดความเสี่ยงได้มากที่สุด และทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของเราน้อยที่สุด”
เธอบอกว่า ทางการต้องเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ หากจำเป็น และท่ามกลางความหวังว่าสถานการณ์จะเป็นไปด้วยดีนั้น การวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
ขอบคุณข่าวจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6622201