ที่บ้านพักเตาปูน เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 19 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกลุ่มตัวแทนชาวนาจาก จ.พิจิตร จำนวน 470 ครอบครัว พร้อมด้วย นายมุนินทร์ จันทรา เจ้าของโรงสี ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานองค์การคลังสินค้า จ.พิจิตร (อคส.) ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต พ.ศ.2548/2549 ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2548 แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 8,424.16 ตัน มูลค่า 58,847,401 บาท (ในสมัยรัฐบาลทักษิณ) ให้กับ นายชัชวาลล์ คงอุดม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเร่งรัดติดตามเงินในโครงการดังกล่าวให้กับชาวนา เนื่องจากขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
โดย นายมุนินทร์ กล่าวว่า ทาง อคส.ไม่ออกใบประทวนสินค้าตามหน้าที่องค์การคลังสินค้าให้กับชาวนา ถือเป็นการผิดสัญญากับทางกลุ่มเกษตรกรชาวนา จนถึงเวลานี้รวม 17 ปีแล้ว ตนเองมีความตั้งใจยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือรัฐบาลผู้บริหารสูงสุดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพื่อให้ช่วยติดตามการชำระเงินค่าจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 8424.16 ตัน มูลค่า 48,847,401.24 บาท พร้อมดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คูณ 17 ปี แต่เรื่องไม่ถึงนายกฯ ตามที่ตนร้อง แต่กลับส่งเรื่องกลับไปให้ อคส. จึงไม่ถูกต้อง เพราะตนร้องนายกฯ เพราะอคส.ไม่ออกใบประทวนให้ชาวนาแต่กลับส่งเรื่องไปให้ อคส.อีก
ทั้งนี้ ตามรายละเอียดที่ปรากฏตามหนังสือรับเรื่องราวร้องทุกข์ นร.01650004201 ลงวันที่ 9 พ.ย.65 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ช่วยติดตามให้ชำระค่าจำนำข้าวเปลือกให้ชาวนา 470 รายที่ไม่ได้รับค่าจำนำข้าวเปลือกจากรัฐบาล โดยใบประทวนสินค้าไปทำสัญญาจำนำและแรกรับเงินจากรัฐบาลที่ธนาคาร ธ.ก.ส.พื้นที่ จ.พิจิตร ตั้งแต่ปีโครงการฯผลิต 2548/49 ตามหน้าที่ (อคส.) ถือว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาต่อเกษตรกรชาวนาดังกล่าว ผ่านมาถึง 17 ปีเศษแล้ว และเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องชำระดอกเบี้ยคูณ 17 ปีเศษ ให้เกษตรกรตามกฎหมายและตามหน้าที่ของรัฐบาลด้วย
ส่วนข้อพิพาทระหว่างฝ่ายโรงสีก้องเกียรติกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องไปฟ้องร้องกันเอง และศาลจังหวัดพิจิตร และศาลอุทธร ภาค 6 ก็พิพากษาว่าฝ่ายโรงสีก้องเกียรติฯไม่ได้ฉ้อโกงชาวนา และไม่มีหน้าที่ชำระค่าจำนำข้าวให้ชาวนา แต่เป็นหน้าที่ของ อคส.ที่ต้องออกใบประทวนข้าวเปลือกให้ชาวนาดังกล่าวไปรับเงินค่าจำนำข้าวที่ธนาคาร ธ.ก.ส.เพราะเกิดเป็นสัญญากับชาวนาจำนำข้าวกับโครงการฯรัฐแล้วนั่นเอง กรณีค่าจำนำข้าว ปี 2548/49 กว่า 8.000 ตัน มูลค่ากว่า 58 ล้านบาท
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 ตนเองได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์รับเรื่องราวผู้ร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ส่งหนังสือเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวไปที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) แต่ไม่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีตามเจตนาที่ตนได้ร้องทุกข์ไว้ จึงเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อองค์การคลังสินค้าไม่ออกใบประทวนสินค้าข้าวเปลือกหอมมะลิ ให้เกษตรกร 470 ราย นำไปทำสัญญาจำนำและแลกรับเงินจำนวนดังกล่าวจากรัฐบาลที่ธนาคาร ธ.ก.ส. ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรตามหน้าที่องค์การคลังสินค้า หรือฝ่ายรัฐบาล ตนเองจึงได้นำหลักฐานเรื่องราวมาร้องทุกข์ต่อ นายชัชวาลล์ คงอุดม ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้เร่งติดตามหรือสอบถามไปยังนายกฯ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือรัฐบาลผู้บริหารสูงสุดของการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ให้ชำระค่าจำนำข้าวให้กับเกษตรกร 470 ครอบครัว โดยด่วนต่อไป
ขณะที่ ด้าน นายชัชวาลล์ คงอุดม กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรชาวนาตั้งแต่กลางปี 2563 ว่าไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จนปัจจุบันนี้กว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลมีงบประมาณ โดยชาวนาไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้ให้ความช่วยเหลือ การดำเนินการตอนนี้ตัวแทนเกษตรกรได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องราวผู้ร้องทุกข์ของรัฐบาล ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกทางศูนย์รับเรื่องราวผู้ร้องทุกข์ของรัฐบาล ได้ส่งเรื่องไปที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในเมื่อหน่วยงานนี้ไม่ออกใบประทวนให้ส่งเรื่องไปทุกอย่างก็เงียบเหมือนเดิม ครั้งนี้ตนจะดำเนินการนำเรื่องนี้เรียนท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกร กว่า 470 ครอบครัว เพราะเขาได้รับความเดือดร้อนมาหลายปีแล้ว ชาวนาส่งผลผลิตเข้าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลแต่ไม่ได้เงิน เราต้องรีบให้ความช่วยเหลือเขาจนถึงที่สุด
ขอบคุณข่าวจาก https://siamrath.co.th/n/416203